ความรู้เรื่องไฟฟ้า

มาตรฐานมอก.กับผลิตภัณฑ์หลอดไฟฟ้า

สินค้าดี ต้องมีมาตรฐาน และมาตรฐานที่เราจะใช้ตรวจสอบได้คือ มอก. ที่ย่อมากจาก มาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม เพราะทุกแบรนด์ก็บอกว่าตัวเองเป็นสินค้าที่ดี แต่ มอก. จะเป็นตัวช่วยผู้บริโภคให้ตรวจสอบได้ มั่นใจได้ว่า สินค้านั้นมีมาตรฐานจริง

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม (มอก.) (Thai Industrial Standard) : หมายถึงข้อกำหนดทางวิชาการที่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิต ในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุดโดยจัดทำออกมาเป็นเอกสารและจัดพิมพ์เป็นเล่ม ภายในมอก.แต่ละเล่มประกอบด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น เกณฑ์ทางเทคนิค คุณสมบัติที่สำคัญ ประสิทธิภาพของการนำไปใช้งาน คุณภาพของวัตถุที่นำมาผลิต และวิธีการทดสอบเป็นต้น ปัจจุบันสินค้าที่สมอ. กำหนดเป็นมาตรฐานปัจจุบันมีอยู่กว่า 2,000 เรื่อง ครอบคลุมสินค้าที่เราใช้ อยู่ในชีวิตประจำวันหลายๆ ประเภท ได้แก่ ประเภทอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ สิ่งทอ  เป็นต้น

 ตรามาตรฐานมอก.นั้นจะมี 2 แบบคือ

1. เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป  ที่ผู้ผลิตสามารถยื่นขอการรับรองด้วยความสมัครใจเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดมาตรฐาน

2. เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ เป็นเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องทำตามมาตรฐาน และต้องแสดงเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

โดยมอก. นั้นจะประกอบด้วยหมายเลขชุดแรก ไว้บอกลำดับที่ในการออกเลข กับหมายเลขชุดหลัง ไว้บอกปี พ.ศ.ที่ออกเลข

ตัวอย่างเลขมอก.

มาตรฐานมอก.ที่เกี่ยวกับหลอดไฟฟ้า

มอก. 236-2533 หมายถึง

มาตรฐานชนิดทั่วไปสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ จะกำหนดเกณฑ์ด้านคุณภาพเกี่ยวกับคุณสมบัติทางไฟฟ้า อายุการใช้งาน รูปร่างและมิติของหลอด เช่น ขั้วหลอดทั้งสองข้างต้องผ่านร่องขนานที่มีระยะเหมาะสมตามแนวยาวที่รองรับหลอดได้โดยอิสระ

หลอดต้องจุดติดสว่างอย่างสมบูรณ์ ภายในระยะเวลาที่ระบุ และยังคงติดสว่างอย่างต่อเนื่อง ค่าเริ่มต้นของกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าตามเกณฑ์ รวมทั้งค่าเริ่มต้นฟลักซ์การส่องสว่างของหลอดต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 92 ของค่าที่กำหนด เป็นต้น

มอก. 1506-2541 หมายถึง

มาตรฐานชนิดทั่วไปสำหรับบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ จะกำหนดลักษณะเฉพาะ คือ อุณหภูมิใช้งานสูงสุดที่กำหนดของผิวนอกของบัลลาสต์ กระแสไฟฟ้าที่กำหนดของตัวจ่าย ความถี่และแรงดันไฟฟ้าที่กำหนด โดยมีการจำแนกและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีการติดตามตรวจสอบผลเป็นระยะด้วย

มอก. 344-2549 หมายถึง

มาตรฐานบังคับสำหรับขั้วรับหลอดฟลูออเรสเซนต์และขั้วรับสตาร์ทเตอร์ จะกำหนดลักษณะที่ต้องการด้านเทคนิคและมิติ เพื่อกําหนดความปลอดภัยและความพอดีในการสวมหลอดเข้ากับขั้วรับหลอด และสตาร์ตเตอร์เข้ากับขั้วรับสตาร์ตเตอร์ โดยผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการออกแบบและทําขั้วรับให้อยู่ในลักษณะที่สามารถทํางานได้ตามปกติ ไม่ทําให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ มีการป้องกันช็อกไฟฟ้า ฉนวนต้องไม่เสื่อมคุณภาพ และจุดต่อต่างๆ ต้องไม่หลุดหลวม ทนทานต่อการใช้งาน

มอก. 956-2533 หมายถึง

มาตรฐานบังคับสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ เฉพาะด้านความปลอดภัย จะเน้นไปยังหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ใช้กับไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับการให้แสงสว่างทั่วไป (แต่ไม่รวมหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดขั้วหลอดเดี่ยว) โดยกำหนดให้ขั้วหลอดต้องติดแน่นอยู่กับหลอดและมีความทนทานต่อโมเมนต์บิต ความต้านทานของฉนวนระหว่างฝาครอบกับขั้วหลอดต้องไม่น้อยกว่า 2 เมกะโอห์ม รวมทั้งมีรูปร่างและมิติเป็นไปตามข้อกำหนดแต่ละประเภท

มอก. 885-2532 หมายถึง

มาตรฐานทั่วไปสำหรับบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับไฟฟ้ากระแสสลับ เฉพาะด้านความปลอดภัย จะเน้นไปยังการทำงานของบัลลาสต์เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานและสภาพแวดล้อม ทั้งในภาวะการทำงานปกติและภาวะผิดปกติ (อย่างการไม่ได้ใส่หลอดหรือใส่หลอดไม่ครบทุกหลอด หลอดจุดไม่ติดเนื่องจากไส้หลอดข้างใดข้างหนึ่งขาด หลอดเสื่อมสภาพ หรือเกิดการลัดวงจรของสตาร์ตเตอร์) โดยกำหนดแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 1,000 โวลต์ พร้อมสร้างขีดจำกัดของกระแสไฟฟ้ารั่ว เป็นต้น

มอก. 1955-2551 หมายถึง

มาตรฐานบังคับสำหรับบริภัณฑ์ส่องสว่างและบริภัณฑ์ซึ่งมีหน้าที่ในการให้กำเนิดหรือกระจายแสงเป็นหลัก เช่น ป้ายโฆษณานีออน, อุปกรณ์ส่องสว่างถนนหรือดวงโคมสาดแสงสำหรับใช้ภายนอกอาคาร และอุปกรณ์ส่องสว่างสำหรับการขนส่ง (ติดตั้งในรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ) เป็นต้น โดยเน้นตรงความเข้ากันได้ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พร้อมบอกขีดจำกัดสัญญาณรบกวนวิทยุ ซึ่งมีพิสัยความถี่ที่ครอบคลุมคือ 9 กิโลเฮิรตซ์ ถึง 400 จิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้สามารถระงับสัญญาณรบกวนในขอบเขตที่สมเหตุสมผล ขณะเดียวกันก็ยังมีการป้องกันทางวิทยุและความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เพียงพอ

ข้อควรทราบในการตรวจสอบมาตรฐาน

การขออนุญาตมาตรฐาน มอก.
ตรวจเช็ครายชื่อมาตรฐาน มอก.
ระบบสืบค้นข้อมูลใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

Related Posts